หลวงพ่อวัดไร่ขิง – ประวัติ

จากหนังสือประวัติของวัดไร่ขิงกล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ ประดิษฐานบนฐานชุกชี 5 ชั้น มาจากวัดศาลาปูน โดยนำล่องมาทางน้ำด้วยแพไม้ไผ่ เมื่อถึงหน้าวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อขึ้นวัดเพื่อประดิษฐานในอุโบสถ วันนั้นตรงกับวันสงกรานต์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 จึงมีประชาชนมาทำบุญกันที่วัดเป็นจำนวนมาก
ในขณะนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์แสงแดดที่แผดจ้าในเดือนเมษายน พลันเกิดมีเมฆดำทะมึน ฟ้าคะนอง ลมปั่นป่วน และเกิดฝนโปรยลงมาทำให้อากาศที่ร้อนอบอ้าวกลับเย็นชุ่มฉ่ำขึ้นมาทันที ประชาชนที่มาร่วมงานต่างเกิดความปีติยินดี ต่างพากันร่ำลือกันไปว่า “หลวงพ่อท่านช่วยคลายร้อน คลายความทุกข์ให้หมดไป ต่อไปนี้จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง พืชพันธุ์ธัญญาหารจะงอกงาม”
.
วัดไร่ขิง – ประวัติ
วัดไร่ขิง วัดสำคัญริมแม่น้ำท่าจีน (หรือแม่น้ำนครชัยศรี) อ.สามพราน จ.นครปฐม สร้างขึ้นโดย พระธรรมราชานุวัตร (พุก) ชาวเมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร (วัดโบราณริมคลองแม่น้ำลพบุรี จ.อยุธยา) ท่านได้กลับมาสร้างวัดที่บ้านเกิดของโยมบิดา-มารดาของท่าน คือ วัดไร่ขิง และ วัดดอนหวาย ประมาณปี พ.ศ.2394
ที่ได้ชื่อว่าวัดไร่ขิงนั้นมีเรื่องเล่าว่า พื้นที่สร้างวัดในอดีตเป็นไร่ปลูกขิงของชุมชนชาวจีน ชาวบ้านเรียกหมู่บ้านในแถวนี้ว่า “ไร่ขิง” ต่อมาเมื่อชุมชนเริ่มเจริญขึ้นจึงมีการสร้างวัดเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน วัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้จึงได้ชื่อตามหมู่บ้านว่า “วัดไร่ขิง”
ราวปี พ.ศ.2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ได้เสด็จมาตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน ทรงเสด็จมาที่วัดไร่ขิง และทรงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม” ต่อมามีการต่อคำท้ายเป็น “วัดมงคลจินดาราม-ไร่ขิง” แต่ชาวบ้านยังคงคุ้นเคยและเรียกวัดแห่งนี้ว่า…วัดไร่ขิง เช่นเดิม

ตำนานพระลอยน้ำ
ตำนานพระลอยน้ำมีอยู่หลายตำนานแตกต่างกันออกไป แต่ในส่วนของ ตำนานเมืองนครปฐม มีเรื่องเล่าถึง พระ 3 องค์ ลอยน้ำมาจากทางเหนือ ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยเข้าไปยังบ้านศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ ตำบลนั้นจึงเรียกว่า “บางพระ” ปากน้ำท่าจีนแล้วกลับลอยทวนน้ำขึ้นมาใหม่ ตำบลนั้นได้ชื่อว่า “สามประทวน” หรือ “สัมปทวน” ชาวบ้านละแวกนั้นต่างพากันมาชักพระขึ้นประดิษฐาน ณ หมู่บ้านของตน แต่ก็อัญเชิญไม่สำเร็จ ชาวบ้านตากแดดตากฝนเพื่อรวมตัวกันชักพระ ถิ่นนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านลานตากฟ้า” หรือ “บ้านตากแดด”
ในที่สุดพระพุทธรูปองค์แรกจึงได้สถิต ณ วัดไร่ขิง “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” นครปฐม ส่วนพระพุทธรูปอีก 2 องค์ลอยออกไปยังปากอ่าว
จนกลายมาเป็นที่มาของตำนานพระพี่น้องลอยน้ำ คือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” สมุทรสงคราม และ “หลวงพ่อทองเขาตะเครา” เพชรบุรี ความอัศจรรย์ที่ถูกเล่าขานต่อกันมาจนทุกวันนี้.

.
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก…
Th.wikipedia.org
nakhonpathom.go.th
komchadluek.net
silpa-mag.com