ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งกรุงธนบุรี

แชร์บทความ

     สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ถือกำเนิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ณ บ้านไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 บิดาไม่ปรากฏนาม มารดาชื่อ เกตุ ในกาลต่อมาบิดามารดาของท่านได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง และท่านได้ย้ายครอบครัวอีกครั้งหนึ่งโดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บางขุนพรหม จังหวัดพระนครในสมัยนั้น

     หลังจากได้ย้ายครอบครัวมาที่บางขุนพรหม ท่านได้เรียนอักษรสมัยกับท่านเจ้าคุณอรัญญิก(ด้วง) เจ้าอาวาสวัดอินทร์ในสมัยนั้น เมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทร์ โดยมีท่านเจ้าคุณบวรวิริยเถร(อยู่) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ย้ายไปอยู่วัดระฆังเพื่อเรียนพระปริยัติธรรม ท่านเป็นผู้มีปฎิภาณเป็นเลิศ มีความจำยอดเยี่ยม สามารถแปลและจดจำพระไตรปิฎกได้อย่างแม่นยำ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่2) ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร ทรงชื่นชมและได้พระราชทานเรือกัญญาหลังคาแซงไว้เป็นพาหนะประจำตัว นับว่าเป็นเกียรติแก่ท่าน เพราะเรือชนิดนี้เป็นเรือของผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าพระองค์เจ้า

     เมื่อมีอายุครบอุปสมบท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่ 1) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่านอุปสมบทในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวังโดยมีพระ สมเด็จพระสังฆราช(สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พรหมรังสี ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4 ) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ พระเทพกระวี ในปี พ.ศ.2397 จากนั้นในปี พ.ศ.2407 จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

     ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพ.ศ.2415 เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้ดูแลการก่อสร้างหลวงพ่อโต ที่วัดบางขุนพรหม (วัดอินทรวิหาร) แล้วอาพาธด้วยโรคชรา และได้ถึงแก่มรณภาพในวันเสาร์ แรม 2 ค่ำเดือน 8ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2415 สิริรวมอายุได้ 84 ปี 64 พรรษา

     เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม (สมเด็จ 5 แผ่นดิน แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ได้ค้นพบจากคัมภีร์ใบลานเก่า ที่ตกทอดมาจากประเทศลังกา จารึกด้วยภาษาสิงหล เป็นพระคาถาที่ทรงอานุภาพและมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงนำมาดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ทางภาษาบาลีและให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวดภาวนาทุกประการ

     ชินบัญชร แปลว่า กรง หรือเกราะป้องกันของพระชินสีห์ เป็นพระคาถาสวดอัญเชิญพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ 28 พระองค์ อัญเชิญพระสูตรต่างๆที่ถือว่าเป็นพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีอานุภาพให้คุณด้านต่างๆมาสถิตที่เส้นผม ศีรษะ กลางกระหม่อม และทุกส่วนร่างกายของผู้ภาวนา ช่วยเป็นเกราะคุ้มภัยอันตรายต่างๆมิให้เข้าทำร้ายได้

     คุณธรรมของสมเด็จฯ ที่นับว่ายอดเยี่ยมอย่างหนึ่งคือมักน้อยสันโดษ ปรากฏว่าท่านมีอัธยาศัยยินดีในปัจจัยตามมีตามได้ ไม่สะสมทรัพย์สมบัติ ได้ลาภสักการะมาในทางใดๆ ก็เอาไปใช้จ่ายในการกุศลต่างๆ มีสร้างวัดเป็นต้น

     ส่วนความเมตตา เกื้อกูลอนุเคราะห์ สงเคราะห์แก่คนทุกชั้นไม่เลือกหน้า แม้ที่สุดโจรมาลักของ ท่านก็ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่โจร ดังมีเรื่องเล่ากันอยู่ข้างจะขบขันว่า ครั้งหนึ่งท่านนอนอยู่ มีโจรขึ้นล้วงกุฏิ โจรล้วงหยิบตะเกียงลานไม่ถึง ท่านช่วยเอาเท้าเขี่ยส่งให้โจร ท่านว่ามันอยากได้

     เรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งท่านไปเทศน์ในต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์หลายอย่างมีเสื่อหมอนเป็นต้น ขากลับมาพักแรมคืนกลางทาง ตกเวลาดึกมีโจรพายเรือเข้าเทียบเรือของท่าน พอโจรล้วงหยิบเสื่อได้แล้ว เผอิญท่านตื่นจึงร้องบอกว่า “เอาหมอนไปด้วยซิจ๊ะ” โจรได้ยินตกใจกลัวรีบพายเรือหนี ท่านจึงเอาหมอนโยนไปทางโจรนั้น โจรเห็นว่าท่านยินดีให้ จึงพายเรือกลับมาเก็บเอาหมอนนั้นไป

     อีกเรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งท่านไปเทศน์ที่บ้านทางฝั่งพระนคร (ว่าแถววัดสามปลื้ม) โดยเรือพาย ท่านนั่งกลาง ศิษย์ ๒ คนพายหัวท้าย ขากลับมาตามทาง ศิษย์ ๒ คนคิดจัดแบ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์กัน คนหนึ่งว่า “กองนี้ของเอ็ง กองโน้นของข้า” อีกคนหนึ่งว่า “กองนี้ข้าเอา เอ็งเอากองโน้น” ท่านเอ่ยถามขึ้นว่า “ของฉันกองไหนล่ะจ๊ะ” เมื่อถึงวัดศิษย์ ๒ คนได้ขนเอาเครื่องกัณฑ์เทศน์กันไปหมด ท่านก็มิได้บ่นว่ากระไร

     คุณธรรมของสมเด็จฯ อย่างหนึ่งคือ ขันติ ท่านเป็น ผู้หนักแน่นมั่นคง สงบจิตระงับใจไม่ยินร้าย เมื่อประสบ อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ ดังจะนำเรื่องมาเป็นอุทาหรณ์ เรื่องหนึ่ง

     ครั้งหนึ่งมีบ่าวของท่านพระยาคนหนึ่ง บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น จังหวัดธนบุรี เสพสุรามึนเมาเข้าไปหาสมเด็จฯ ถามว่า “นี่หรือคือสมเด็จที่เขาเลื่องลือกันว่ามีวิชาอาคมขลัง อยากจะลองดีนัก” พอพูดขาดคำก็ตรงเข้าชก แต่ท่านหลบทันเสียก่อน แล้วท่านบอกให้บ่าวคนนั้นรีบหนีไปเสีย ด้วยเกรงว่ามีผู้พบเห็นจะถูกจับกุมมีโทษ ความนั้นได้ทราบถึงท่าน พระยาผู้เป็นนาย จึงจัดการลงโทษบ่าวคนนั้น โดยเอาโซ่ล่ามไว้กับขอนไม้ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ท่านทราบเรื่องได้ไปเยี่ยม เอาเงิน ๑ สลึงกับอาหารคาวหวานไปให้บ่าวคนนั้น ทุกวัน ฝ่ายท่านพระยาคิดเห็นว่า การที่สมเด็จฯ ทำดังนั้น ชะรอยท่านจะมาขอให้ยกโทษโดยทางอ้อม จึงให้แก้บ่าวนั้นปล่อยให้เป็นอิสระ

     สมเด็จฯ ทรงคุณธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ ท่านมีคารวะอ่อนน้อม กล่าวกันว่า ท่านไปพบพระพุทธรูป ท่านจะหลีกห่างราว ๔ ศอก แล้วนั่งลงกราบ ที่สุดไปพบหุ่นพระพุทธรูปท่านก็ทำดังนั้น เคยมีผู้ถาม ท่านตอบว่าดินก้อนแรกที่หยิบขึ้นมาปั้นหุ่น ก็นับเป็นองค์พระแล้ว เพราะผู้ทำตั้งใจมาแต่เดิมที่จะทำพระพุทธรูป ในหนังสือ “บุญญวัตร” นายชุ่ม จันทนบุบผา เปรียญ เรียบเรียง (พิมพ์ชำร่วยเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพอุบาสิกาเผื่อน จันทนบุบผา ณ เมรุวัดระฆังฯ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๙๕) ความตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องสมเด็จฯ เคารพหุ่นพระพุทธรูป ดังคัดมาลงไว้ต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าได้รับบอกกล่าวจากท่านพระครูปลัดสัมพิพัฒนสีลาจารย์ (ชม จันทนบุบผา) ถานานุกรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) วัดระฆังฯ ผู้เป็นลุงมาอีกต่อหนึ่ง ท่านเล่าว่า เมื่อครั้งท่านเป็นเด็กอายุราว ๑๕ ปี ได้เป็นศิษย์ของท่านปลัดฤกษ์ คราวหนึ่งไปสวดมนต์ที่บ้านชาวเหนือ (คือบ้านช่างหล่อปัจจุบันนี้) ไปพร้อมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่บ้านนั้นเขาเอาหุ่น พระพุทธรูปตั้งผึ่งแดดไว้ห่างทางเดินราว ๒ ศอก เมื่อสมเด็จฯ เดินผ่านมาในระยะนี้ท่านก้มกายยกมือขึ้นประนมเหนือศีรษะกระทำคารวะ พระและศิษย์ที่ไปด้วยก็กระทำตาม เมื่อขึ้นบ้านงานและนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว นายเทศผู้ช่วยเจ้าภาพซึ่งคุ้นเคยกับสมเด็จฯ ได้เรียนถามว่า “กระผมสงสัยเพราะไม่เคยเห็นเจ้าคุณสมเด็จฯ กระทำดังนี้” ท่านจึงตอบว่า “แต่ก่อนไม่เคยเห็นจริงจ้ะ แต่วันนี้เป็นเหตุบังเอิญจ้ะ เพราะฉันเดินผ่านมาในเขตอุปจารของท่านไม่เกิน ๔ ศอก จึงต้องทำดังนี้” นายเทศจึงเรียนว่า “ยังไม่ยกขึ้นตั้งและยังไม่เบิกพระเนตร จะเป็นพระหรือขอรับ” ท่านตอบว่า “เป็นจ้ะ เป็นตั้งแต่ผู้ทำหุ่นยกดินก้อนแรกวางลงบนกระดานแล้วจ้ะ เพราะผู้ทำตั้งใจให้เป็นองค์พระอยู่แล้ว เรียกอุทเทสิกเจดีย์ยังไงล่ะจ๊ะ” เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ขากลับผ่านมาท่านก็กระทำอย่างนั้นอีก

     รุ่งขึ้นท่านไปฉัน ตอนนี้ท่านเห็นพระตั้งอยู่ไกลออกไปราว ๖ ศอก ต่อจากทางที่ท่านไปเมื่อวาน ท่านไปหยุดยืนอยู่ตรงหน้าพระ และประนมมือพร้อมกับพระที่ไปด้วย ประมาณสัก ๑ นาทีแล้วจึงขึ้นไปบนเรือน เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จ เจ้าภาพถวายเครื่องสักการะและท่านยถาสัพพีเสร็จแล้ว ท่านก็นำธูปเทียนดอกไม้ที่เจ้าภาพถวายไปสักการบูชาพระที่ขึ้นหุ่นไว้นั้น พร้อมกับพระสงฆ์ที่ตามมาด้วยกันแล้วจึงกลับวัด”

    เล่ากันว่า เมื่อสมเด็จฯ ไปพบพระเณรแบกหนังสือคัมภีร์ไปเรียน ท่านจะต้องนั่งประนมมือหรือก้มกายแสดงคารวะพระธรรม แม้ใครจะฉายรูปฉายาลักษณ์ของท่านในอิริยาบถใดก็ตาม ถ้าในที่นั้นมีหนังสือเทศน์ ท่านจะต้องหยิบขึ้นมาถือประหนึ่งเทศน์เสมอ อีกอย่างหนึ่งถ้าท่านไปพบพระเณรกำลังแสดงธรรม (เทศน์) อยู่ ท่านจะต้องหยุดฟังจนจบแล้วจึงไปในที่อื่น ว่าที่ท่านทำดังนี้ ด้วยท่านประสงค์จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้าทรงสดับธรรมที่พระอนุรุทธ์แสดง ความว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพระอนุรุทธ์กำลังแสดงธรรมอยู่ พระองค์ได้ประทับยืนฟังจนจบ เมื่อพระอนุรุทธ์ ทราบ จึงทูลขออภัยที่ทำให้ประทับยืนนาน พระองค์ทรงตรัสว่า แม้จะนานกว่านั้นสักเท่าไรก็จะประทับยืน เพราะพระองค์ทรงเคารพในธรรม ดังนี้ อนึ่งว่ากันว่า พระภิกษุจะมีพรรษาอายุมากหรือน้อย ก็ตาม เมื่อไปกราบท่านๆ ก็กราบบ้าง (ว่าจะกราบท่านกี่ครั้ง ท่านก็กราบตอบเท่านั้นครั้ง) พระอุปัชฌาย์เดช วัดกลางธนรินทร์ จังหวัดสิงห์บุรีว่า ครั้งหนึ่งไปหาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดระฆังฯ เมื่อกราบท่าน ท่านก็กราบตอบ พระอุปัชฌาย์เดชนึกประหลาดใจ จึงกราบเรียนถามว่าทำไมท่านจึงต้องทำดังนั้น ท่านตอบว่า ท่านทำตามบาลีพุทธฎีกาที่ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ (กราบ) ย่อมได้รับไหว้ (กราบ) ตอบ

ติดต่อลงประกาศข้อมูลพระเครื่อง

บทความเพิ่มเติม